วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

ออกแบบบ้านไม่ให้ร้อน


การออกแบบที่ต้องเริ่มตั้งแต่การวางตำแหน่งตัวบ้านให้ สอดคล้องกับทิศทางของสาย ลม แสงแดดและลมฝน การเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างประเภทที่สามารถลดการสะสมความร้อนถือได้ว่า เป็นวิธีการที่สามารถป้องกันความร้อนไว้ได้ตั้งแต่เริ่มการออกแบบ หรือ ยังไม่ลงมือก่อสร้างนั่นเองครับ ส่วนอาคารบ้านเรือนที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่ได้แต่อย่างใด มีวิธีต่าง ๆ หลากหลายวิธี อาทิ เช่น การติดตั้งฉนวนกันความร้อน การต่อเติมสร้างแผงกันแดดให้กับตัวบ้าน เป็นต้น สำหรับท่านใดที่กำลังอยู่ในช่วงเตรียมการก่อสร้างแล้ว การวางทิศทางของบ้านถือว่าสำคัญมิใช่น้อย โดยเฉพาะด้านกว้างของบ้านตามหลักแล้ว ไม่ควรหันไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกเป็นอันขาด เพราะด้านทางทิศตะวันตกจะเป็นด้านที่ได้รับแสงแดดสาดส่องเข้ามาอย่างรุนแรง ที่สุด (หรือ ที่เรียกกันติดปากตามประสาช่างว่า แดดเลีย) เมื่อได้รับการสาดกระทบทุกวันบ้านของท่านก็ยิ่งร้อนมากขึ้น แล้วหันด้านยาวไปทางทิศเหนือ เพราะ ด้านนี้ จะได้รับการสาดกระทบของแสงแดดน้อยกว่า แล้วยังเป็นทิศที่ได้รับอิทธิพลลมมรสุมเขตร้อนชื้นพัดโกรกเข้าออกมากที่สุด และเมื่อมีลมพัดเข้ามามาก สิ่งสำคัญที่จะทำให้กระแสลมพัดพาความเย็นเข้ามาได้อย่างทั่วถึงก็คือ การทำช่องเจาะ เช่น หน้าต่าง ช่องลม เพื่อช่วยให้เกิดการระบายอากาศในบ้านของท่านมากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าเมื่อมีช่องระบายอากาศให้ลมเข้าก็ต้องมีช่องระบายอากาศ ให้ลมออกด้วยนะครับ มิเช่นนั้นบรรยากาศแห่งวังวนของความอบอ้าวก็จะคงอยู่ในบ้านท่านตลอดไป
ส่วน การเลือกวัสดุในการก่อสร้างอาคารก็มีความสำคัญ เช่น การใช้ผนังที่สามารถต่อสู้กับความร้อน ซึ่งในท้องตลาดก็มีวัสดุหลายประเภทที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ วิธีการนี้จะช่วยลดการสะสมความร้อนที่พื้นผิวของอาคารได้ค่อนข้างดี เมื่อพื้นผิวของอาคารไม่ร้อน ผนังและตัวอาคาร รวมทั้งบรรยากาศภายในก็ไม่ร้อนเช่นกันครับ สุดท้ายขอฝากเป็นประเด็นหลักให้บรรดาคนรักออกแบบบ้านไม่ให้ร้อนได้ เตรียมการป้องกันอาคารบ้าน เรือนความร้อน คือ ความร้อนจะทะลุทะลวงเข้ามาในอาคารบ้านเรือนของท่านได้ 3 ทางหลัก ๆ คือ ทางหลังคา,ทางผนังและทางช่องเปิด ปิดทวารทั้ง 3 ให้ได้ ปัญหาเรื่องบ้านร้อนก็น่าจะแก้ได้ไม่ยากครับ
ถ้าอยากให้ลมพัดผ่าน บ้านละก็…”หลักการง่ายๆ ให้ลมพัดผ่านอาคาร คือเมื่อมีช่องเปิดรับลมต้องมีช่องระบายให้ลมออก ฉะนั้นควรเจาะหน้าต่างอย่างน้อย 2 ด้าน ขึ้นไป ซึ่งจะยิ่งได้ผลดีหากหน้าต่างอยู่ตรงข้ามกันในแต่ละห้อง และถ้าหน้าต่างด้านลมออกมีขนาดใหญ่กว่าหน้าต่างด้านลมเข้า ลมที่พัดเข้ามาจะมีความเร็วมากกว่าความเร็วของลมภายนอกในขณะนั้น”
สีของบ้านก็มีผลเช่นกัน…”พื้นผิวอาคารภายนอก ทั้งผนังบ้านและวัสดุมุงหลังคา ควรเลือกใช้สีอ่อนเพื่อให้สะท้อนความร้อนได้ดี”
การ จัดวางตำแหน่งห้องครัว…”หาก มีส่วนของครัวไทย ซึ่งการปรุงอาหารก่อให้เกิดความร้อนสะสมมาก ควรแยกไม่ให้ ติดกับตัวบ้าน เพื่อลดความร้อนที่จะถ่ายเทเข้าสู่พื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรอยู่ใกล้กับห้องปรับอากาศ เพราะทำให้เครื่องปรับอากาศรับภาระในการทำความเย็นหนักขึ้น”
แน่นอน ว่าบ้านที่เย็นสบายต้องมีต้นไม้…”เพิ่ม พื้นที่สีเขียวรอบๆ บ้าน เช่น พื้นหญ้า หรือพื้นที่สวน ให้มีสัดส่วนมากกว่าพื้นแข็ง เพื่อช่วยลดอุณหภูมิรอบๆบ้าน และลดการสะท้อนรังสีความร้อนเข้าสู่บ้าน (อุณหภูมิอากาศผสมเหนือพื้นผิวคอนกรีตสูงกว่าอุณหภูมิผสมเหนือผิวหญ้า เปียก ถึง 7 องศาเซลเซียส)”
เรื่องน้ำก็สำคัญ…”ขุดสระน้ำใกล้กับตัว บ้าน เพื่อให้ไอเย็นจากน้ำช่วยลดอุณหภูมิของอากาศรอบๆ ตัวบ้านเมื่อลมพัดผ่านในบ้านจึงเย็นสบาย”
“ใช้ น้ำโดยไม่ต้องเปลืองไฟจากการใช้ปั๊มน้ำ โดยต่อท่อตรงแบบไม่ผ่านเครื่องปั๊มไปยังก๊อกน้ำบางจุด เช่น ก๊อกน้ำในสวน ลานซักล้าง หรืออ่างล้างจาน เพราะก๊อกที่อยู่ชั้นล่างยังมีแรงดันจากท่อประปา น้ำอาจไม่แรงเท่าใช้ปั๊ม แต่ก็ช่วยลดค่าไฟไปได้บ้าง”
ควบคุมแสงสว่างในบ้าน…”ลด การใช้ไฟโดยพยายามออกแบบให้ทุกส่วนของบ้าน ทั้งห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ และห้องทำงาน ได้รับแสงธรรมชาติมากที่สุดเพื่อลดความจำเป็นในการเปิดไฟตอนกลางวัน”
และ ส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้า…”ใน ห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศไม่ควรมีบ่อน้ำ หรือน้ำพุ เพราะหลักการของเครื่องปรับอากาศคือการลดอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งการมีน้ำในห้องจะเพิ่มความชื้น ทำให้เครื่องปรับอากาศใช้พลังงานในการลดความชื้นมากกว่าปกติ”
“เมื่อเปิดเครื่องปรับอากาศควรปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นที่ก่อให้เกิดความร้อน เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ตู้เย็น กาต้มน้ำไฟฟ้า เป็นต้น”
“อย่า วางตู้เย็นใกล้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ความร้อนหรือเตาไฟ ตำแหน่งที่ดีที่สุดของตู้เย็น คือ จุดที่เย็นที่สุดในห้อง และจุดที่มีแดดส่อง”… ฯลฯ
ไอเดียเหล่านี้ไม่ยากเลยใช่ไหมที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในออกแบบบ้านไม่ให้ร้อนของบ้านเรา เพื่อช่วยกันลดอุณหภูมิโลก

วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

การตกแต่งห้องต่างๆ ภายในบ้านให้น่าอยู่


 

การตกแต่งบ้านให้ห้องต่างๆ มีความน่าสนใจและสวยงามมักเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านควรพึงกระทำอยู่เสมอ ไอเดียการตกแต่งห้องนั่งเล่น หรือห้องรับแขกภายในบ้าน อาจเลือกใช้แสงจากธรรมชาติให้มากที่สุด ควรมีการติดตั้งประตู หน้าต่าง หรือช่องแสงไว้อย่างพอเพียง เลือกใช้วัสดุและโทนสีที่มองแล้วเกิดความสบายตา รู้สึกผ่อนคลาย น่าพักผ่อน คุณสามารถนำโซฟาตัวโปรดมาวางตกแต่งไว้กลางห้องนั่งเล่น หรือห้องรับแขก เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับห้องของคุณ กำหนดให้มีช่องทางเชื่อมต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของบริเวณบ้าน สร้างมุมโปรดของคุณหรือมุมอ่านหนังสือเล่มโปรดที่สามารถชมวิวทิวทัศน์ของสวน ภายในบ้านคุณได้อย่างผ่อนคลาย หรือการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์บิ้วอินท์ไว้สำหรับวางหนังสือหรือของประดับ ตกแต่งห้องชิ้นเล็ก ใช้ประโยชน์ของผนังบ้านที่ว่างเปล่าไร้ประโยชน์เป็นที่แขวนกระดานไม้สำหรับ จดบันทึกข้อความกันลืม หรือรายละเอียดสิ่งที่คุณต้องทำในวันถัดไป หรือเลือกประดับด้วยกรอบภาพถ่ายของคนภายในครอบครัวที่จะช่วยสร้างบรรยากาศ อันอบอุ่นแก่ครอบครัว ไอเดียการตกแต่งห้องนอน ควรจะเลือกเตียงนอนที่เหมาะกับคุณ ทดลองนอนว่ารู้สึกสบายกายหรือไม่ อาจปรับแต่งด้วยการใช้มุ้งโปร่งติดตั้งรอบเตียงนอน และอีกหนึ่งให้นำแผ่นเหล็กสวยมาตกแต่งไว้ และนำแผ่นแม่เหล็กที่ได้จากการท่องเที่ยวหรือร้านขายของที่ระลึกมาสะสมไว้ สร้างความทรงจำอันดีแก่คุณ ห้องนอนที่ดีจะต้องมีโทนสีที่สบายตา สามารถสร้างบรรยากาศให้เจ้าของห้องนอนหลับได้อย่างสนิท โดยเฉพาะสีโทนเข้มจะทำให้คุณนอนหลับสบายได้ดีที่สุด เพราะสีเข้มจะไม่สะท้อนแสงและทำให้ห้องนอนของคุณมืดสนิท ในวันสบายๆ คุณควรเปิดหน้าต่างที่มีอยู่ภายในห้องนอนบ้าง เพื่อรับอากาศบริสุทธิ์ภายนอกบ้าน และแสงแดดจากภายนอกบ้าง อากาศจะได้ถ่ายเทอย่างสะดวก เพียงเท่านี้ห้องนอนของคุณก็จะมีบรรยากาศที่น่าอยู่มากขึ้น